ปัญหาเหงือกร่น
ปัญหาเหงือกร่น แก้ไขได้ ให้กลับมายิ้มง่ายได้อีกครั้ง
ปัญหาเหงือกร่น เป็นปัญหาที่พบได้ๆ ทั่วไป แต่คนไข้มักจะไม่รู้ตัว อาการเหงือกร่น คือ ลักษณะอาการที่มีการถดถอยของระดับเหงือกลงมา ซึ่งปกติเหงือกควรจะอยู่ระหว่างรอยต่อของรากฟันและตัวฟัน ทำให้ตัวฟันดูยาวขึ้น หรือคนไข้จะรู้สึกตัวได้จากอาการเสียวฟันที่อาจจะเกิดขึ้นมาเอง หรือเมื่อทานอาหาร
สาเหตุของเหงือกร่น
- เกิดจากคราบฟัน ทำให้เกิดการระคายเคือง และให้เหงือกร่นลงมาได้
- โรคปริทันต์อักเสบ หรือโรคเหงือก ซึ่งอาจทำให้เกิดการละลายตัวของกระดูก และเหงือก
- การเรียงตัวที่ผิดปกติของฟัน ซึ่งฟันอาจเรียงตัวออกจากเบ้ากระดูก มีเหงือกหรือกระดูกที่บางกว่าปกติ
- การสบฟันที่ผิดปกติ แรงกระแทกจากการกัดเคี้ยว สามารถทำให้ตัวฟันสึก ทำให้เชื้อโรคสะสมส่งผลทำให้เหงือกมีการลดระดับลงมา
- การแปรงฟันที่ผิดวิธี การแปรงย้ำๆ ทุกวัน เป็นการทำให้เหงือกฉีกขาด และร่นลงไป
- หลังการบูรณะฟัน เช่น การอุดฟัน การทำครอบฟัน ถ้าขอบของวัสดุบูรณะฟันลงไปใต้เหงือกก็เป็นสาเหตุของเหงือกร่น
- การจัดฟัน ทันตแพทย์จะทำการจัดฟันให้อยู่ในแนวที่เหมาะสม ซึ่งบางครั้งอาจไปเรียงตัวในแนวกระดูกด้านหน้าที่มีการบางกว่าปกติ
- ปัจจัยทางกายภาพ อาจจะเป็นเพราะเหงือกบางกว่าปกติ หรือการที่มีอวัยวะข้างเคียงดึงรั้งให้เหงือกร่นลงไป
อาการเหงือกร่นที่ต้องทำการรักษา
- คนไข้รู้สึกว่าเป็นปัญหาเรื่องความสวยงาม ฟันดูยาว
- อาการเสียวฟัน จากการดื่มของเย็น ทานอาหาร หรือเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง
- คนไข้มีแผนการรักษาทันตกรรมด้านอื่น ๆ เช่น การจัดฟัน, การใส่ฟันปลอม หรือรากฟันเทียมแล้วเหงือกรอบ ๆ บริเวณไม่เหมาะสมก็อาจจะต้องทำการปลูกเหงือก ข้อจำกัดของการรักษาเหงือกร่น
- ลักษณะเหงือกของคนไข้
- ลักษณะของรอยโรค หรือรอยที่เหงือกร่นเป็นอย่างไร
- กระดูกรอบ ๆ ฟันละลายไปเท่าไหร่ คนไข้ควรเข้าตรวจและวางแผนการรักษาเป็นรายบุคคล
การวางแผนการรักษา
การปลูกถ่ายเหงือกเป็นการรักษาเหงือกร่นเฉพาะที่ การปลูกถ่ายเหงือกมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ที่ปลูกถ่าย หรือรอยโรคของแต่ละบุคคล
ชนิดของเนื้อเยื่อที่ปลูกถ่าย
- เนื้อเยื่อจากตัวคนไข้ ซึ่งนำมาจากเพดานปาก
- เนื้อเยื่อจากการสังเคราะห์
- เนื้อเยื่อจากสัตว์ จะมีการฆ่าเชื้อ สามารถนำมาใช้ในปากมนุษย์ได้ วิธีการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ
- การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อทั้งชิ้น
- การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อยึดต่อ
- การเคลื่อนแผ่นเหงือกบริเวณซี่ข้างเคียงเข้ามาปิด
ข้อแนะนำจากทันตแพทย์
อาการเหงือกร่น มีหลากหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการ และการรักษาค่อนข้างหลากหลายแตกต่างกันไป ทันตแพทย์แนะนำว่าถ้าหากคนไข้รู้สึกตัวว่าเหงือกร่น โดยเฉพาะเหงือกร่นเฉพาะที่ แนะนำว่าให้เข้ามาปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ที่มา: https://www.ddbmh.com/%e0%b8%9b%e0%b8%b1%e0%b8%8d%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b8%87%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b9%88%e0%b8%99-%e0%b9%81%e0%b8%81%e0%b9%89%e0%b9%84%e0%b8%82%e0%b9%84%e0%b8%94%e0%b9%89/